คอมเพรสเซอร์ตู้เย็นน็อค! ไม่ทำงาน!
แก้ไขอย่างง่ายดายดัวยตัวเองแบบไม่ต้องง้อช่าง
คอมเพรสเซอร์ (Compressor) … เป็นหนึ่งในอุปกรณ์ที่สำคัญอย่างมากของตู้เย็น เพราะถ้าหากคอมเพรสเซอร์ไม่ทำงาน ก็จะทำให้ตู้เย็นหยุดการทำงานไปด้วยเช่นกัน หรือที่เรียกกันอย่างติดปากว่า “ตู้เย็นน็อก” นั่นเอง และเมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดปัญหาคอมเพรสเซอร์ตู้เย็นไม่ทำงาน สิ่งแรกที่คนส่วนใหญ่มักจะทำคือการยกตู้เย็นไปให้ช่างดูอาการก่อนที่จะได้รับการคำนวณค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมที่ชวนตกใจหลายพันบาทเลยทีเดียว ดังนั้น เพื่อให้คุณผู้อ่านสามารถทำการแก้ไขรับมือกับปัญหาคอมเพรสเซอร์ตู้เย็นไม่ทำงาน เพื่อช่วยยืดอายุของตู้เย็นเครื่องโปรดให้สามารถใช้งานได้อย่างยาวนานมากขึ้น บทความชิ้นนี้จึงได้ทำการรวบรวมสาเหตุ รวมไปถึงวิธีการแก้ไขให้คอมเพรสเซอร์กลับมาทำงานได้อย่างเป็นปกติมาฝากคุณผู้อ่านกัน
คอมเพรสเซอร์ของตู้เย็นมีความสำคัญอย่างไร!?
โดยพื้นฐานแล้วตู้เย็นจะทำการสร้างความเย็นด้วย “หลักการนำพาความร้อน” โดยมีน้ำยาทำความเย็นเป็นตัวนำพาความร้อนในระบบปิดที่ทำการหมุนเวียนน้ำยาไปเรื่อยๆ โดยคอมเพรสเซอร์จะทำหน้าที่สั่งการกระบวนการทำงานดังกล่าว เพื่อให้อุณหภูมิในตู้เย็นมีความเหมาะสมในระดับที่ปรับตั้งเอาไว้นั่นเอง
ตู้เย็น และคอมเพรสเซอร์ มีแนวโน้มที่จะพังบ่อยไหม!?
ถ้าหากใช้งานอย่างถูกต้อง และได้รับการบำรุงรักษาเล็กน้อยอย่างเหมาะสม ตู้เย็นและคอมเพรสเซอร์โดยทั่วไปแล้วสามารถทำงานได้อย่างยาวนานนับสิบปีกันเลยทีเดียว แต่ในขณะเดียวกันหากไม่ทำการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมก็จะทำให้ตู้เย็น และคอมเพรสเซอร์ตู้เย็นเกิดการชำรุดเสียหายได้อย่างรวดเร็วจนน่าตกใจเลยทีเดียว
หากคอมเพรสเซอร์ใกล้น็อก ไม่ทำงานสังเกตได้อย่างไรบ้าง!?
คอมเพรสเซอร์ มักจะเริ่มปรากฏปัญหาให้เห็นในช่วงหน้าร้อน โดยเฉพาะในช่วงบ่ายที่อุณหภูมิภายนอกเพิ่มสูงมากขึ้น สำหรับวิธีการสังเกตว่าคอมเพรสเซอร์กำลังใกล้จะหยุดทำงานหรือไม่ ให้ลองใช้หลังมือแตะไปที่ผนังด้านข้างของตู้เย็นถ้าหากสัมผัสได้ถึงความร้อนมากผิดปกติจนรู้สึกแสบผิว นั่นเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนว่าคอมเพรสเซอร์กำลังทำงานหนักเพื่อระบายความร้อนมากจนผิดปกติ จนอาจนำไปสู่การหยุดทำงานได้ในทุกเมื่อ จากการตัดระบบอัตโนมัติเมื่อตัวคอมเพรสเซอร์มีความร้อนที่สูงมากจนเกินไปนั่นเอง นอกจากนี้ เมื่อคอมเพรสเซอร์ตู้เย็นไม่เย็น หรือทำงานได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพก็มักที่จะทำให้เกิดสัญญาณปัญหาดังต่อไปนี้
1.อาหารในตู้เย็นเกิดการเน่าเสียก่อนวันหมดอายุ
อาหารสด ผัก และผลไม้เป็นสิ่งที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดถ้าหากคอมเพรสเซอร์ตู้เย็นไม่เย็น ทำให้เกิดปัญหาอาหารเน่าเสียก่อนวัยหมดอายุ
2.เกิดปัญหาน้ำซึมออกมาจากตู้เย็นหรือน้ำเจิ่งนองในตู้เย็น
เมื่อคอมเพรสเซอร์ตู้เย็นไม่เย็นเท่าที่ควรจะทำให้น้ำแข็งในบริเวณช่องแช่แข็งเกิดการละลายตัวเองลงไปเจิ่งนองในพื้นที่ของตู้เย็น และในบางครั้งอาจมีการซึมออกไปภายนอกของตู้เย็นอีกด้วย น้ำเหล่านี้นอกจากจะเป็นสิ่งที่ทำให้เห็นถึงปัญหาคอมเพรสเซอร์ตู้เย็นไม่เย็นแล้ว หากไปสัมผัสกับอาหารสด ผัก และผลไม้ ที่อยู่ในตู้เย็นก็จะทำให้อาหารเหล่านั้นเกิดการบูดเน่าก่อนเวลาอันควรอีกด้วย
3.ค่าไฟฟ้าสูงมากขึ้นกว่าปกติ
โดยพื้นฐานแล้วตู้เย็นเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟเยอะ เพราะมีการทำงานอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถ้าหากเกิดปัญหาคอมเพรสเซอร์ตู้เย็นไม่เย็นขึ้นมา ก็จะยิ่งทำให้ตู้เย็นกินไฟมากกว่าปกติมากขึ้นไปอีก เพราะตู้เย็นจะพยายามปรับอุณหภูมิภายในตู้เย็นให้มีความเหมาะสมอยู่ตลอดเวลานั่นเอง แต่เนื่องจากคอมเพรสเซอร์ตู้เย็นทำงานไม่เป็นปกติ ทำให้ตู้เย็นพยายามปรับอุณหภูมิอยู่ตลอดเวลา จนสิ้นเปลืองปริมาณไฟฟ้ามากขึ้นกว่าเดิม
สาเหตุสำคัญที่ทำให้คอมเพรสเซอร์ไม่ทำงาน
- ไฟดับ และไฟกระชากเมื่อไฟกลับมาทำงานอีกครั้ง
- คอมเพรสเซอร์ตัดการทำงานของตัวเองเมื่อมีอุณหภูมิสูงขึ้นเกินค่ามาตรฐาน
- เทอร์โมสตาร์ททำงานผิดพลาด หรือสั่งให้คอมเพรสเซอร์หยุดทำงาน
- คอมเพรสเซอร์ เกิดสนิมขึ้นกับอุปกรณ์ภายในทำให้คอมเพรสเซอร์ไม่ทำงาน
การป้องกันไม่ให้คอมเพรสเซอร์หยุดทำงาน
การป้องกันไม่ให้คอมเพรสเซอร์หยุดทำงานเสียตั้งแต่เนิ่นๆ นอกจากจะทำให้ไม่ต้องรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจจากการหยุดทำงานของคอมเพรสเซอร์แล้ว ยังเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้คอมเพรสเซอร์เกิดความชำรุดเสียหายเสียตั้งแต่แรก แถมยังช่วยยืดอายุในการใช้งานของคอมเพรสเซอร์ และตู้เย็นให้ยาวนานมากขึ้น โดยมีวิธีการที่แสนง่ายดายดังต่อไปนี้
1.เว้นระยะห่างระหว่างผนังเพื่อให้คอมเพรสเซอร์ทำงานได้อย่างเต็มที่
หลายคนทำการติดตั้งตู้เย็นเอาไว้ชิดติดผนัง แต่ที่จริงแล้วนั่นถือว่าเป็นวิธีการที่ผิดอย่างมหันต์ เพราะเป็นการปิดกั้นไม่ให้อากาศมีการไหลเวียนอย่างเหมาะสม ทำให้ลมร้อนที่คอมเพรสเซอร์พยายามระบายออกไปจากตู้เย็นหวนกลับเข้ามาทำให้อากาศบริเวณนั้นทวีความร้อนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจนกระทั่งทำให้คอมเพรสเซอร์หยุดทำงาน ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือ ควรเว้นช่องว่างระยะห่างจากผนังด้านข้างและด้านหลังของตู้เย็นเอาไว้อย่างน้อย 15 ซม. เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวกนั่นเอง
2.เว้นระยะห่างของตู้เย็นทั้งสองเครื่อง
หากบ้านไหนมีตู้เย็นสองเครื่องขอแนะนำว่าให้ทำการติดตั้งเอาไว้คนละมุมห้องจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะตู้เย็นจะมีการระบายความร้อนผ่านคอมเพรสเซอร์อยู่ตลอดเวลา หากนำมาติดตั้งเอาไว้ข้างกันจะทำให้เกิดลมร้อนระหว่างสองเครื่องเป็นจำนวนมากจนทำให้คอมเพรสเซอร์หยุดทำงานได้เช่นกัน
3.เว้นช่องว่างช่องเก็บของในช่องแช่เย็น
การใช้งานตู้เย็นอย่างเหมาะสมควรทำการจัดระเบียบสิ่งของภายในตู้แช่เย็นให้มีระบบ มีระเบียบมากขึ้น ไม่วางสิ่งของปิดกั้นทางเดินของช่องลมเย็น และไม่ควรพยายามแช่ของมากจนเกินไปเพราะจะทำให้คอมเพรสเซอร์ทำงานหนักมากขึ้น จนอาจหยุดทำงานไปเลยได้เช่นกัน
4.หมั่นล้างทำความสะอาดตู้เย็นทั้งภายใน และภายนอก
คราบสกปรกภายในตู้เย็นอาจทำให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ แต่ในขณะเดียวกันคราวสกปรก ขนสัตว์ และฝุ่นละอองภายนอกที่เข้าไปอุดตันแผงระบายความร้อนภายนอกของตู้เย็นก็จะทำให้คอมเพรสเซอร์ทำงานหนักมากขึ้นเช่นกัน ดังนั้น การหมั่นทำการล้าง เก็บสิ่งสกปรกเหล่านี้ออกไปบ้างจะช่วยให้คอมเพรสเซอร์ทำงานได้ดีมากขึ้นเช่นกัน
5.ห้ามนอนตู้เย็นในขณะทำการขนย้ายอย่างเด็ดขาด
การนอนตู้เย็นในขณะที่ทำการขนย้ายจะทำให้น้ำยาทำความเย็นภายในเครื่องเกิดการเคลื่อนตัว และหากมีการรั่วไหล่ออกมานอกจากจะทำให้อุปกรณ์ภายในเกิดการเสียหาย ยังมีโอกาสทำให้คอมเพรสเซอร์เสียหายได้อีกด้วย